top of page
Recent Posts

ทำไมการหาวถึงติดต่อกันได้?


Source: news-medical.net

คุณเคยหาวตามคนอื่น ทั้งๆ ที่คุณไม่ได้ง่วงหรือไม่ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “หาวตามกัน” หรือ “contagious yawning”

ข้อสันนิษฐานหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์คือ การหาวตามคนอื่นถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าชนิดหนึ่ง เรียกว่า รูปแบบพฤติกรรมที่ถูกกำหนดไว้ หรือ “fixed action pattern” ซึ่งมีแนวคิดเหมือนกับโดมิโน คือเมื่อคนคนหนึ่งหาว จะเป็นการกระตุ้นให้คนที่อยู่รอบๆหาวตามด้วย

อีกข้อสันนิษฐานคาดว่า เกิดจากการเลียนแบบโดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว หรือเรียกว่า chameleon effect ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อคุณลอกเลียนแบบพฤติกรรมของใครบางคนโดยไม่รู้ตัว เช่น เมื่อคนที่นั่งตรงข้ามคุณนั่งไขว่ห้าง คุณอาจนั่งไขว่ห้างตามเขาด้วย

ข้อสันนิษฐานนี้กล่าวไว้ว่า เราหาวตามคนอื่นเพราะเรากำลังลอกเลียนแบบพฤติกรรมของเขาอยู่ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า chameleon effect เกิดขึ้นจากเซลล์สมองชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า”เซลล์สมองกระจกเงา” หรือ mirror neurons ซึ่งเป็นเซลล์ที่ใช้ในการเรียนรู้แบบลอกเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลอื่น

ตัวอย่างเช่น เวลาที่เรามองดูใครทำอะไร mirror neurons ในสมองของเราจะทำงานราวกับว่าเรากำลังทำสิ่งเดียวกัน เช่น การที่เราเห็นคนกำลังทาลิปสติ๊กจะทำให้เราสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้คล่องแคล่วขึ้น โดยการทดลองพบว่า เมื่อเราเห็นหรือได้ยินเสียงหาว ส่วนของสมองที่มี mirror neurons จะทำงาน ทำให้เกิดการตอบสนองด้วยการหาวตามนั่นเอง

Source: sites.psu.edu

ข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับ mirror neurons เรียกว่า empathy yawn คำว่า empathy หมายถึง การที่เราเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่น พฤติกรรมการหาวตามกันจะเกิดขึ้นเมื่อมีอายุประมาณ 4-5 ขวบ ซึ่งเป็นวัยเดียวกับวัยที่เด็กเริ่มจะเข้าใจอารมณ์ของคนอื่น ซึ่งสอดคล้องกับการที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เด็กวัยนี้มี mirror neurons ที่ทำให้เข้าถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น

จากการสำรวจในมนุษย์สามารถสรุปได้ว่า เรามักหาวตามกันในหมู่คนรู้จักมากกว่าคนแปลกหน้าเช่นเดียวกับการทดลองในสุนัข ซึ่งพบว่า สุนัขจะหาวตามมนุษย์ และจะหาวบ่อยมากกว่าถ้าเป็นคนที่สุนัขนั้นคุ้นเคย

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการหาวตามกัน ซึ่งสาเหตุอาจมาจากข้อสันนิษฐานใหม่ หรือหลายๆข้อสันนิษฐานรวมกันก็ได้

Source

Video: https://ed.ted.com


bottom of page